• Welcome to ลงประกาศฟรี โพสฟรี โปรโมทเว็บไซด์ให้ติดอันดับ SEO ด้วย PBN.
 

poker online

ปูนปั้น

ทริสฯเพิ่มอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ BCP เป็น A , หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ BBB+

Started by kaidee20, November 01, 2022, 04:30:25 AM

Previous topic - Next topic

kaidee20


ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เป็นระดับ "A" จากเดิมที่ระดับ "A-" พร้อมทั้งเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนของบริษัทเป็นระดับ "BBB+" จากเดิมที่ระดับ "BBB" ด้วย ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิตยังคงเป็น "Stable" หรือ "คงที่"

การเพิ่มอันดับเครดิตในครั้งนี้สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่ฟื้นตัวกลับมาอย่างแข็งแกร่งจากการใช้กำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงและความยืดหยุ่นของโรงกลั่นน้ำมัน ตลอดจนราคาน้ำมันและค่าการกลั่นที่เพิ่มสูงขึ้น บวกกับการฟื้นตัวของยอดขายผ่านสถานีบริการน้ำมันของบริษัท

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน รวมถึงประโยชน์จากการมีบูรณาการระหว่างธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจการตลาดของบริษัท ตลอดจนสถานะทางการตลาดที่มั่นคงของบริษัทในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย แต่ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนลงจากความอ่อนไหวต่อความผันผวนของค่าการกลั่นและราคาน้ำมัน รวมถึงการลงทุนของบริษัทที่อยู่ในระดับสูงในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้บริษัทต้องก่อหนี้จำนวนมาก

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ผลการดำเนินงานฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่สอง ผลการดำเนินงานของบริษัทมีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วงระหว่างปี 2564 จนถึงครึ่งแรกของปี 2565 โดยบริษัทมีผลกำไรที่สูงกว่าประมาณการซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของราคาน้ำมันและค่าการกลั่น การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกช่วยเพิ่มอุปสงค์น้ำมันให้สูงขึ้นในขณะที่อุปทานน้ำมันอ่อนตัวลงจากการจำกัดงบลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)
ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 69.4 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2564 ความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนยิ่งส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบโลก โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ราคาน้ำมันดิบดูไบยังคงเพิ่มขึ้น 60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 101.8 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้บริษัทมีกำไรจากสินค้าคงเหลือ (Inventory Gain) ถึง 6.7 พันล้านบาทในปี 2564 และ 8.5 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2565

นอกจากนี้ อุปทานน้ำมันที่ลดลงยังได้ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มสูงขึ้นและขยายส่วนต่างของราคาน้ำมันสำเร็จรูปกับน้ำมันดิบให้กว้างขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์อีกด้วย ดังนั้น ค่าการกลั่นพื้นฐานของบริษัทจึงเพิ่มขึ้นเป็น 15.9 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 จาก 4.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2564 ในขณะเดียวกัน อัตราการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทก็เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 122.3 พันบาร์เรลต่อวันซึ่งเป็นครั้งแรกที่บริษัทมีอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงกว่า 100%

ทั้งนี้ อัตราการผลิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีบริการและการส่งออกผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงผ่านธุรกิจค้าน้ำมันของบริษัท รวมถึงความสำเร็จจากการลงทุนในโครงการส่งเสริมประสิทธิภาพพลังงานและสิ่งแวดล้อม (โครงการ 3E) ที่แล้วเสร็จในปี 2564 เป็นหลัก

บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) สูงขึ้นเป็นสถิติใหม่ถึง 2.37 หมื่นล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมี EBITDA อยู่ในช่วง 4.0-4.5 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566 ซึ่งมากกว่าที่ทริสเรทติ้งเคยประมาณการไว้ในปีที่แล้วเกือบเท่าตัว อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของบริษัทอาจจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 3.0-3.3 หมื่นล้านบาทในปี 2567 จากการคาดการณ์ว่าความตึงตัวของอุปทานน้ำมันจะผ่อนคลายลง แม้ว่าปัจจุบันจะมีความไม่สมดุลกันระหว่างอุปทานและอุปสงค์ แต่ทริสเรทติ้งก็เห็นว่าโดยพื้นฐานแล้ว ธุรกิจกลั่นน้ำมันของบริษัทยังคงมีความอ่อนไหวต่อความผันผวนของราคาน้ำมันและค่าการกลั่น

มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์เฉพาะกลุ่มเพื่อเพิ่มค่าการกลั่น บริษัทได้นำข้อได้เปรียบจากการจัดหาน้ำมันดิบที่มีปริมาณกำมะถันต่ำและการดำเนินงานของโรงกลั่นที่มีความยืดหยุ่นมาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง เช่น น้ำมันเตาที่มีกำมะถันต่ำมาก รวมถึง Unconverted Oil (UO) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นหลักในการผลิตน้ำมันหล่อลื่น และสารทำละลายที่มีสารอะโรเมติกส์ต่ำ เป็นต้น โดยตั้งแต่ปี 2563 บริษัทได้ปรับสัดส่วนการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปเพื่อลดผลกระทบจากอุปสงค์ที่ลดลงของน้ำมันอากาศยานและเพื่อเพิ่มค่าการกลั่นโดยรวมของบริษัท ซึ่งโดยปกติ UO จะมีส่วนต่างราคาจากราคาน้ำมันดิบ (Crack Spread) ที่กว้างกว่าน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยาน
ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 สัดส่วนผลิตภัณฑ์ของโรงกลั่นของบริษัทประกอบด้วยน้ำมันดีเซล 53% น้ำมันเบนซิน 20% UO 12% น้ำมันอากาศยาน 4% และเชื้อเพลิงอื่น ๆ อีก 11% ในขณะที่ก่อนปี 2563 นั้น โรงกลั่นของบริษัทผลิต UO ได้เพียง 2%-4% ของผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปทั้งหมด

การจำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีบริการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ช่วยเพิ่มยอดขายน้ำมันผ่านเครือข่ายสถานีบริการของบริษัทให้สูงขึ้นเป็นอย่างมากจนเกินกว่าระดับในช่วงก่อนการแพร่ระบาด โดยยอดขายเฉลี่ยผ่านสถานีบริการเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 382 ล้านลิตรต่อเดือนในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 จากประมาณ 358 ล้านลิตรต่อเดือนในปี 2562 ซึ่งสะท้อนถึงความพยายามของบริษัทในการขยายเครือข่ายสถานีบริการและการเพิ่มสินค้าและบริการต่าง ๆ นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์น้ำมันในสถานีบริการ ทั้งนี้ สถานีบริการภายใต้แบรนด์ "บางจาก" ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 1,301 แห่ง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 โดยขยายตัวอย่างต่อเนื่องจาก 1,201 แห่ง ณ สิ้นปี 2562
ค่าการตลาดของบริษัทได้รับแรงกดดันจากการควบคุมราคาน้ำมันดีเซลในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 โดยค่าการตลาดสุทธิของบริษัทในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ลดลงมาอยู่ที่ 0.59 บาทต่อลิตร จาก 0.75 บาทต่อลิตรในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ซึ่งเป็นผลจากการควบคุมราคาน้ำมันดีเซล อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นของราคาน้ำมันดีเซลในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ทำให้ค่าการตลาดสุทธิของบริษัทปรับตัวสูงขึ้นเป็น 0.94 บาทต่อลิตร

ทริสเรทติ้งมองว่าค่าการตลาดน่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงน่าจะช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อค่าการตลาดได้ สำหรับธุรกิจการตลาดของบริษัทนั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าจะยังคงเป็นแหล่งสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนให้แก่บริษัทต่อไปเนื่องจากค่าการตลาดของธุรกิจดังกล่าวมีความผันผวนน้อยกว่าค่าการกลั่น นอกเหนือจากธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่น้ำมันที่มีส่วนช่วยทำให้กำไรโดยรวมมีเสถียรภาพเพิ่มขึ้น

OKEA มีสัดส่วนกำไรค่อนข้างมาก การที่บริษัทมี EBITDA อยู่ในระดับที่สูงมากนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการรวมผลการดำเนินงานทางการเงินของ OKEA ASA (OKEA) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำมันในประเทศนอร์เวย์เข้ามาในงบการเงินรวมของบริษัทตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 โดย EBITDA ของบริษัทเป็นผลการดำเนินงานของ OKEA ถึง 7.8 พันล้านบาทในปี 2564 และ 7.8 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2565
ทั้งนี้ กำไรของ OKEA ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าวในขณะที่ OKEA ยังคงรักษาระดับค่าใช้จ่ายในการผลิตให้อยู่ในระดับต่ำ ราคาขายเฉลี่ยของ OKEA เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 75.9 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2564 คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นถึง 147% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประมาณ 110 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ในทางตรงกันข้าม ค่าใช้จ่ายในการผลิตของ OKEA ยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 16-23 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในช่วงปี 2564 จนถึงครึ่งแรกของปี 2565 โดย OKEA มียอดขายรวมอยู่ที่ 5.8 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2564 และ 2.8 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในช่วงครึ่งแรกของปี 2565

ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายของ OKEA จะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากการเพิ่มกำลังการผลิตจากโครงการ "Yme" นอกจากนี้ การประกาศซื้อสัดส่วนโครงการปิโตรเลียมที่ผลิตแล้วจาก Wintershall Dea AG. จะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตให้แก่ OKEA อีกประมาณ 7 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยธุรกรรมดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565

ทั้งนี้ จากประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้ง ยอดขายของ OKEA น่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 9-10 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบได้ในปี 2566 และจะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 8-9 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2567 ทริสเรทติ้งคาดว่าราคาขายเฉลี่ยจะค่อย ๆ ทยอยลดลงตั้งแต่ปี 2565 แต่น่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงเนื่องจากอุปสงค์ก๊าซธรรมชาติที่แข็งแกร่ง ทริสเรทติ้งประมาณการว่า OKEA จะสร้าง EBITDA ให้แก่บริษัทที่ประมาณ 1.8-2.3 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566 และที่ประมาณ 1.35-1.45 หมื่นล้านบาทในปี 2567

มีการลงทุนเป็นอย่างมากในธุรกิจผลิตไฟฟ้าสีเขียว การเติบโตในธุรกิจพลังงานแบบยั่งยืนเป็นจุดยืนหลักของกลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัท ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริษัทได้พัฒนาและลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนหลายประเภทโดยผ่านบริษัทย่อยคือ บมจ. บีซีพีจี (BCPG) ปัจจุบัน BCPG มีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินงานแล้วด้วยกำลังการผลิตรวมที่ขนาด 390 เมกะวัตต์ซึ่งคิดตามสัดส่วนการลงทุน ทริสเรทติ้งประมาณการว่า บริษัท บีซีพีจี จะใช้เงินลงทุนที่ประมาณ 4.85 หมื่นล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2565-2567 โดยครอบคลุมทั้งในส่วนของการซ่อมบำรุง การลงทุนทั้งในโครงการใหม่ทั้งที่ยังไม่ได้มีการพัฒนาและมีการดำเนินงานแล้ว รวมทั้งการซื้อกิจการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินงานแล้ว
ทั้งนี้ ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้าสีเขียวจะสร้าง EBITDA ให้แก่บริษัทที่ประมาณ 3.5-5.0 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567 โดยทริสเรทติ้งยังคงเห็นว่าการกระจายการลงทุนเชิงกลยุทธ์ไปในธุรกิจผลิตไฟฟ้าสีเขียวจะช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่นให้แก่บริษัทเพื่อที่จะสามารถรองรับความผันผวนของราคาน้ำมันและค่าการกลั่นได้

สถานะทางการเงินดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ บริษัทมีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นเป็นอย่างมากเนื่องจากการมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและการมีวินัยทางการเงิน แม้ว่าบริษัทจะมีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า แต่บริษัทก็ยังคงพยายามที่จะรักษาโครงสร้างเงินทุนที่รัดกุมเอาไว้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 บริษัท บีซีพีจี ได้ขายเงินลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพและได้รับเงินสดประมาณ 1.46 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ บมจ. บีบีจีไอ (BBGI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ดำเนินงานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพของบริษัทยังได้รับเงินเพิ่มทุนอีกประมาณ 4.45 พันล้านบาทจากการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้แก่ประชาชนทั่วไปในเดือนมีนาคม 2565 อีกด้วย
ดังนั้น บริษัทจึงมีหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วลดลงเหลือ 6.27 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 และมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 44.7% ณ เดือนมิถุนายน 2565 โดยลดลงจากระดับ 55.1% ณ สิ้นปี 2564 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกันโดยมาอยู่ที่ระดับ 3.2 เท่าในปี 2564 และ 1.6 เท่า (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 จาก 9.2 เท่าในปี 2563

ในช่วงปี 2565-2567 ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะใช้งบในการลงทุนและใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ 9.24 หมื่นล้านบาท โดยเงินจำนวน 4.85 หมื่นล้านบาทจะใช้ในธุรกิจผลิตไฟฟ้าสีเขียว จำนวน 2.17 หมื่นล้านบาทจะใช้ในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจการตลาด จำนวน 1.87 หมื่นล้านบาทจะใช้ในกิจกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำนวน 3.1 พันล้านบาทจะใช้ในธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และที่เหลืออีกจำนวน 0.3 พันล้านบาทจะใช้ในธุรกิจอื่น ๆ ทั้งนี้ ภายใต้ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ในช่วง 50%-55% ในระหว่างปี 2565-2567

ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับราว ๆ 1.5-2.0 เท่าในปี 2565 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 2.5-3.5 เท่าในช่วงปี 2566-2567 ตามแผนการลงทุนของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงการใหม่ ๆ ของบริษัทซึ่งรวมถึง โครงการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนและโครงการผลิตพาราฟิน แว็กซ์ (Paraffin Wax) มูลค่ารวมประมาณ 1.12 หมื่นล้านบาทน่าจะสามารถสร้างกำไรให้แก่บริษัทได้อย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป

สถานะสภาพคล่องเป็นที่น่าพอใจ บริษัทมีสถานะสภาพคล่องเป็นที่น่าพอใจ โดย ณ เดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวนประมาณ 4.26 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 1.63 หมื่นล้านบาท และทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานในระยะ 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ประมาณ 2.0-2.3 หมื่นล้านบาทอีกด้วย ในขณะเดียวกัน บริษัทจะมีหนี้สินที่ใกล้ครบกำหนดชำระซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ระยะยาว หนี้สินตามสัญญาเช่า และหุ้นกู้อยู่ที่ประมาณ 1.29 หมื่นล้านบาท
โครงสร้างหนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีภาระหนี้รวมอยู่ที่ประมาณ 8.33 หมื่นล้านบาท (รวมหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน) โดยหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนประกอบด้วยหนี้ของบริษัทย่อยซึ่งเป็นหนี้ที่มีหลักประกันมูลค่า 1.87 หมื่นล้านบาทและหนี้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันมูลค่า 2.01 หมื่นล้านบาท ในขณะที่อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้ทั้งหมดของบริษัทอยู่ที่ระดับ 46.6% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

ราคาน้ำมันดิบจะอยู่ที่ระดับ 95-100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2565 และ 85 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2566 และ 75 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2567
กำลังการกลั่นน้ำมันดิบของโรงกลั่นของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 110-120 พันบาร์เรลต่อวันในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 จนตลอดถึงปี 2567
ค่าการกลั่นพื้นฐานของบริษัทจะอยู่ที่ 13-14 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2565 และ 7-8 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงปี 2566-2567
ยอดขายผ่านสถานีบริการน้ำมันของบริษัทจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ประมาณ 6%-8% ในช่วงปี 2565-2567
ประมาณการใช้จ่ายและเงินลงทุนทั้งสิ้นจะอยู่ที่จำนวน 9.24 หมื่นล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2565-2567
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความยืดหยุ่นในการผลิตตลอดจนประสิทธิภาพของโรงกลั่นของบริษัทเอาไว้ได้ นอกจากนี้ บริษัทจะยังคงดำรงสถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจการตลาดของบริษัทเอาไว้ได้ในขณะที่การขยายการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าสีเขียวจะเพิ่มกระแสเงินสดจำนวนมากและคาดการณ์ได้มากขึ้นอีกด้วย ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าบริษัทจะยังคงรักษาวินัยทางการเงินที่ทำให้ภาระหนี้ของบริษัทยังคงสอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้ง

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตมีจำกัดในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้า ในขณะที่ปัจจัยที่มีผลในเชิงลบต่ออันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอกว่าที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้อย่างมีนัยสำคัญ หรือโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากซึ่งอาจเกิดจากการลงทุนขนาดใหญ่ที่ต้องมีการก่อหนี้ หรือบริษัทประสบผลขาดทุนอย่างมากจากการลงทุน